ปุตราจายา (Putrajaya) เมืองใหม่ตามแนวคิดของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.มหาเธร์ โมฮำมัด สร้างขึ้นเพื่อเป็นเมืองแห่งอนาคต ศูนย์กลางฝ่ายบริหารและประมุขของประเทศเพื่อกระจายความเจริญออกจากเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ เริ่มก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 มีการนำรูปแบบอาคารและสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของโลกจากหลายที่มารวมกันไว้อยู่ที่เมืองแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสะพานที่สร้างเหมือนกับสะพานโกลเดนเกท สะพานซิดนีย์ฮาร์เบอร์ สะพานคาจูแห่งอิหร่าน อนุสาวรีย์วอชิงตัน กลุ่มตึกสูงดูไบ และมัสยิดซึ่งสร้างอย่างยิ่งใหญ่คล้ายสถาปัตยกรรมของโลกอาหรับ

บทความนี้จะรีวิวประสบการณ์ท่องเที่ยวเมือง “ปุตราจายา” ของผมต่อเนื่องจากบทความก่อนหน้านี้ครับ
การเดินทางมาเมือง “ปุตราจายา” จากกัวลาลัมเปอร์วิธีง่ายที่สุด คือ นั่งรถไฟฟ้า KLIATransit จากสถานี KL Sentral ครับ ค่าโดยสารรถไฟทั้งหมด 9.5 RM (สามารถเช็กตารางเวลาเดินได้ที่นี่)
KL Sentral >>> Putrajaya
เมื่อมาถึงสถานีแล้ว ให้ใช้ Skywalk เดินมายัง Bus Terminal แล้วต่อรถสาย 502 เพื่อไปยังมัสยิดปุตรา (Putra Mosque) สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเมืองครับ
เมืองแห่งนี้มีจุดท่องเที่ยวหลักๆที่นักท่องเที่ยวมาชมกัน คือ มัสยิดสีชมพู (Putra Mosque), สะพาน Seri Wawasan, ลานน้ำพุปุตราสแควร์ (Putra Square), และทำเนียบนายกรัฐมนตรี (Prime Minister’s office) เนื่องจากไม่มีรถเมล์จากมัสยิดสีชมพูมามัสยิดเหล็ก (Iron Mosque) โดยตรง นักท่องเที่ยวจึงมักเที่ยวกันแค่สถานที่ตามที่กล่าวครับ
สำหรับผมแล้ว นานๆมีโอกาสมาที เลยคิดว่ามาแล้วก็เดินเที่ยวให้ทั่วไปเลยดีกว่า จึงแพลนเอาไว้ว่า จะเที่ยวเมืองแห่งนี้ตามลำดับดังนี้ครับ
- นั่งรถเมล์จาก Putrajaya Sentral ไป มัสยิตสีชมพู (Putra Mosque) ถ่ายรูปน้ำพุที่ปุตราสแควร์ (Putra Square) และตึกทำเนียบนายกรัฐมนตรี
- เดินข้ามสะพาน Putra Bridge
- ไปชมวิวบนสะพาน Seri Wawasan แล้วเดินเลียบริมแม่น้ำไป Monumen Alaf Baru
- เดินต่อไปมัสยิดเหล็ก (Majid Tuanku) แล้วเดินออกมาถ่ายรูปหน้าศาลยุติธรรม (Palace of Justice) กับ Perbadan Putrajaya Complex
- นั่งรถเมล์กลับไป Putrajaya Sentral
หมายเหตุ : จากสะพาน Putra Bridge ถึงมัสยิดเหล็กระยะทางทั้งหมด 2.4 กิโลเมตร ครับ
มาเริ่มรีวิวกันเลยดีกว่า….
ระหว่างที่นั่งบนรถเมล์มุ่งหน้าไปยังมัสยิดสีชมดู เราจะพบกับทำเนียบนายกรัฐมนตรี และลานปุตราสแควร์ ลานกว้างรูปดาว 13 แฉก ที่เป็นตัวแทนของรัฐทั้ง 13 ของมาเลเซีย โดยมีธงชาติมาเลเซียตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลาง

หลังจากลงจากรถเมล์แล้ว ทางด้านซ้ายมือของเราจะเป็นมัสยิดสีชมพู
มัสยิดปุตรา (Putra Mosque) เป็นมัสยิดสีชมพูกุหลาบที่ประดับตกแต่งด้วยลวดลายที่สวยงามตามหลักศาสนาอิสลาม สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเมือง มีหอคอยสูง 116 เมตร ที่สร้างขึ้นโดยได้รับอิทธิพลมาจากมัสยิดชีคโอมาร์ (Sheikh Omar mosque) ในกรุงแบกแดด แทนสัญลักษณ์เสาหลักทั้งห้าของศาสนาอิสลาม นักท่องเที่ยวที่มาเข้าชมควรแต่งกายสุภาพใส่กางเกงขายาว แต่หากเขามองว่าไม่เหมาะสมจะมีเสื้อคลุมสีแดงให้ใส่ฟรีครับ
หลังจากเดินได้พักหนึ่งก็เริ่มหิว เราเลยลงมาหาอะไรทานที่ศูนย์อาหารริมทะเลสาบใกล้ๆ มัสยิดครับ
หลังจากจบจุดท่องเที่ยวแรก ก็ได้เวลาเดินเท้าข้ามสะพานปุตรา (Putra Bridge) เพื่อถ่ายรูปวิวมัสยิดสีชมพูจากมุมไกลๆ สะพานปุตราแห่งนี้อันที่จริงมีทางรถไฟโมโนเรลลอดอยู่ด้านใต้ แต่ยังไม่เปิดใช้บริการ เนื่องจากเมืองแห่งนี้ยังมีผู้คนอยู่ไม่หนาแน่นพอครับ สะพานมีความยาวทั้งหมด 435 เมตร ทำจากคอนกรีต เชื่อมพื้นที่เขตราชการกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน รูปแบบของสะพานเป็นสถาปัตยกรรมแบบอิสลามได้รับแรงบันดาลใจมาจากสะพานคาจู ของประเทศอิหร่าน



เมื่อเจอกระทรวงการคลังแล้วให้เดินเลี้ยวมาทางขวามือ จะเจอกับสะพานเสรีวาวาซาน (Seri Wawasan) ครับ
สะพานเสรีวาวาซาน มีอีกชื่อว่าสะพานหมายเลข 9 เนื่องจากเป็นสะพานลำดับที่ 9 ที่สร้างข้ามผ่านทะเลสาบปุตราจายา ทะเลสาบที่ขุดขึ้นโดยมนุษย์เพื่อให้มีภูมิทัศน์เมืองที่สวยงาม สะพานเป็นสะพานแบบขึงเคเบิล (Cable-stayed bridge) สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.2003 เป็นรูปทรงเรือใบทาด้วยสีเงินดูล้ำสมัย ในตอนกลางคืนจะเปิดไฟเล่นสีสันสวยงาม บนสะพานนี้มีรถไม่ค่อยเยอะครับ สามารถเดินข้ามฝั่งถ่ายรูปได้สบาย

หลังจากที่ถ่ายรูปบนสะพานเสร็จก็ได้เวลาเดินต่อครับ ตอนนี้ฟ้าเริ่มครึ้มๆแล้ว ผมเดินตามทางริมน้ำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงสวนริมน้ำ มีบอลลูนอยู่นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นชมวิวเมืองจากบนบอลลูนได้ครับ ราคาแพคเกจคนละ 850 RM
(ดูรายละเอียดข้อมูลแพคเกจการขึ้นบอลลูน และจองรอบออนไลน์ได้ที่นี่)

ใกล้ๆกับบอลลูนจะมีอนุสาวรีย์ Monumen Alaf Baru (Millenium Monument) อนุสรณ์สถานแห่งชาติมาเลเซีย ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างมาจากอนุสาวรีย์วอชิงตัน แห่งเมือง วอชิงตันดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ตัวอนุสาวรีย์สูง 68 เมตร ถูกทาด้วยสีทอง มีกระจกแกะสลักบอกเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติมาเลเซียเรียงตามไทม์ไลน์ ตั้งแต่ยุคอาณานิคมไปจนถึงวิสัยทัศน์ของมาเลเซียในอนาคตครับ
จากอนุสรณ์สถานแห่งชาติเดินตรงมาอีกสักพักก็ถึงมัสยิดเหล็กครับ (Tuanku Mizan Zainal Abidin Mosque)
ตอนที่ผมมาถึงที่นี่ โชคดีมาที่ได้พบกับอิหม่ามผู้ดูแลมัสยิด ท่านถามพวกเรามาจากไหน พอบอกว่ามาจากเมืองไทย ท่านก็ชวนนั่งคุยกันเรื่องราวต่างๆ ท่านชี้ให้ดูสถานที่ต่างๆของเมือง ว่าสะพานของเมืองตรงไหนสร้างโดยได้รับแรงบันดาลใจจากอะไร มีทั้งโกลเด้นเกท ซิดนีย์ และอิหร่าน และกลุ่มอาคารจากดูไบ พร้อมกับเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมมัสยิดแห่งนี้ว่าสร้างขึ้นจากเหล็กถึง 6000 ตัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากเยอรมันนี มาแกะสลักถักเป็นลวดลายต่างๆ โดยทิศที่ทำการละหมาดจะหันหน้าเข้าสู่นครเมกกะ ท่านยังเล่าอีกว่า เมื่อปี ค.ศ.2012 สมเด็จพระเทพฯเคยเสด็จมาเยี่ยมชมที่มัสยิดแห่งนี้ ท่านก็เป็นคนพาพระเทพเยี่ยมชมจุดต่างๆด้วยตนเองอีกด้วย หลังจากคุยกันได้สักพักหนึ่ง ท่านบอกว่าใกล้ได้เวลาละหมาดแล้วเลยขอตัว แต่ก่อนจากท่านได้อนุญาตให้เราชมพิธีพร้อมถ่ายรูปในมัสยิดแห่งนี้ด้วย โชคดีมากๆเลยครับ เพราะปกติแล้วช่วงเวลาที่มีละหมาด มัสยิดไม่ค่อยอนุญาตให้ผู้นับถือศาสนาอื่นเข้าชมครับ
ชมมัสยิดได้พักหนึ่งแล้วผมกับเพื่อนก็เดินออกมาด้านหน้า และเจอพบกับอาคารศาลยุติธรรม (Palace of Justice) และ Perbadan Putrajaya Complex ที่ดูแล้วยิ่งใหญ่ตระการตามากๆครับ
เดินออกมาถึงถนนใหญ่จะเจอกับป้ายรถเมล์ครับ เมื่อเจอป้ายรถเมล์แล้วเราก็พบว่า… รถเมล์ที่จะไปสถานี Putrajaya Sentral เพิ่งขับออกไป (ตกรถซะแล้ว T-T ) เราเลยจำเป็นต้องโบกแท็กซี่เพื่อไปขึ้นรถไฟที่สถานีให้ทันรอบเวลาขึ้นตึกปิโตรนาสที่จองไว้ และเพื่อเตรียมเคาท์ดาวน์วันปีใหม่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ครับ
ขอจบรีวิวประสบการณ์ท่องเที่ยวเมืองใหม่ปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย ไว้ตรงนี้นะครับ
อ่านบทความ เคาท์ดาวน์วันปีใหม่ที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ได้ ที่นี่
One Reply to “เที่ยว Putrajaya เมืองใหม่แห่งอนาคตของมาเลเซีย”